วันเสาร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

สถานที่ท่องเที่ยว จ. กาฬสินธุ์



อนุสาวรีย์พระยาชัยสุนทร (ท้าวโสมพะมิตร)

อำเภอเมือง จ.กาฬสินธุ์
ตั้ง อยู่หน้าที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นอนุสาวรีย์หล่อด้วยสัมฤทธิ์เท่าตัวจริง ยืนบนแท่นมือขวาถือกาน้ำ มือซ้ายถือดาบอาญาสิทธิ์ ชาวกาฬสินธุ์ทุกหมู่เหล่าได้สละทรัพย์ก่อสร้างอนุสาวรีย์ เพื่อเป็นการแสดงกตเวทิตา ต่อผู้ให้กำเนิดเมืองกาฬสินธุ์


พิพิธภัณฑ์สิรินธร

อำเภอสหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์
พิพิธภัณฑ์ สิรินธร ตั้งอยู่ที่เชิงภูกุ้มข้าว อำเภอสหัสขันธ์ สามารถเดินทางโดยใช้เส้นทางกาฬสินธุ์-สหัสขันธ์ (ทางหลวง 227) ประมาณ 28 กิโลเมตร (ก่อนถึงสหัสขันธ์ 2 กิโลเมตร) มีทางแยกขวาไปอีก 1 กิโลเมตร บริเวณภูกุ้มข้าว ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่ของวัดสักกะวัน เป็นสถานที่ค้นพบกระดูกไดโนเสาร์จำนวนมาก รวมทั้งโครงกระดูกไดโนเสาร์ทั้งตัวที่สมบูรณ์ ที่ฝังอยู่ในพื้นดินและได้รับการขุดแต่ง โดยเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรธรณี
พิพิธภัณฑ์สิรินธร หรือพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว เป็นพิพิธภัณฑ์และศูนย์วิจัยเกี่ยวกับไดโนเสาร์ ที่สมบูรณ์แบบและใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยได้รับพระราชทานนามจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ว่า "พิพิธภัณฑ์สิรินธร" การจัดแสดงภายในอาคารแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 การกำเนิดโลก ส่วนที่ 2 การกำเนิดของสิ่งมีชีวิตซึ่งรวมถึงไดโนเสาร์ จนถึงการกำเนิดมนุษย์ ส่วนที่ 3 เป็นนิทรรศการหมุนเวียน ปัจจุบันกำลังจัดแสดงนิทรรศการ “ซากดึกดำบรรพ์ปลาภูน้ำจั้น” ซึ่งเป็นซากปลาน้ำจืดโบราณพันธุ์ใหม่ของโลกซึ่งอยู่ในสภาพสมบูรณ์ มีชื่อว่า "เลปิโดเทส" มีความยาวประมาณ 30-60 เซนติเมตรอยู่ในยุคมีโซโซอิก หรือ 65 ล้านปีที่แล้ว ช่วงเดียวกับไดโนเสาร์
พิพิธภัณฑ์สิรินธร เปิดให้บริการทุกวัน (ทั้งวันธรรมดาและวันหยุด) เวลา 8.30-17.30 น. ขณะนี้เปิดให้เข้าชมฟรีจนกว่าจะประกาศเปิดอย่างเป็นทางการต่อไป หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 4387 1014

นอกจากนี้ในบริเวณที่เป็นที่ตั้งของวัดสักกะวัน เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อบันดาลฤทธิผล (หลวงพ่อบ้านด่าน) พระพุทธรูปปางมารวิชัย สมัยทวารวดี ซึ่งชาวบ้านในท้องถิ่นถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง


เมืองฟ้าแดดสงยาง

อำเภอกมลาไสย จ.กาฬสินธุ์
เมือง ฟ้าแดดสงยาง ตั้งอยู่ที่บ้านเสมา ตำบลหนองแปง ห่างจากตัวจังหวัด 19 กิโลเมตร ตามเส้นทางหมายเลข 214 (กาฬสินธุ์-ร้อยเอ็ด) ระยะทาง 13 กิโลเมตร ถึงอำเภอกมลาไสย เลี้ยวขวาตามทางหลวงหมายเลข 2367 ระยะทาง 6 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาเข้าซอยอีกประมาณ 400 เมตร เมืองฟ้าแดดสงยาง หรือที่เรียกเพี้ยนเป็นฟ้าแดดสูงยาง บางแห่งเรียกเมืองเสมาเนื่องจาก แผนผังของเมืองมีรูปร่างคล้ายใบเสมา เป็นเมืองโบราณที่มีคันดินล้อมรอบ 2ชั้น ความยาวของคันดินโดยรอบประมาณ 5 กิโลเมตร คูน้ำจะอยู่ตรงกลางคันดินทั้งสอง จากหลักฐานโบราณคดีที่ค้นพบ ทำให้ทราบว่ามีการอยู่อาศัยภายในเมือง มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ แล้วได้เจริญรุ่งเรืองมากขึ้นในสมัยทวารวดีราวพุทธศตวรรษที่ 13-15 ดังหลักฐานทางพุทธศาสนา ที่ปรากฏโดยทั่วไปทั้งภายในและนอกเมือง เช่น ใบเสมาหินทราย จำหลักภาพเรื่องชาดก และพุทธประวัติจำนวนมาก บางส่วนเก็บไว้ที่วัดโพธิ์ชัยเสมาราม ซึ่งอยู่ภายในเมือง บางแห่งอยู่ในตำแหน่งดั้งเดิมที่พบ และบางส่วนก็นำไปเก็บรักษา และจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติขอนแก่น นอกจากนั้นยังมีซากศาสนสถานกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ภายในเมืองและนอกเมือง เช่นพระธาตุยาคู และกลุ่มเจดีย์บริเวณศาสนสถานที่โนนวัดสูง โนนฟ้าหยาด และโนนฟ้าแดด กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเมืองฟ้าแดดสงยาง เป็นโบราณสถานเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2479 พระธาตุยาคู หรือพระธาตุใหญ่ เป็น เจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองฟ้าแดดสงยาง ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมก่อด้วยอิฐ ปรากฏการก่อสร้าง 3 สมัยด้วยกันคือ ส่วนฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมย่อมุม มีบันไดทางขึ้น 4 ทิศ มีปูนปั้นประดับสร้างในสมัยทวารวดี ถัดขึ้นมาเป็นฐานรูปแปดเหลี่ยมซึ่งสร้างซ้อนทับบนฐานเดิม เป็นรูปแบบเจดีย์ในสมัยอยุธยา ส่วนองค์ระฆังและส่วนยอดสร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ รอบ ๆ องค์พระธาตุพบใบเสมาแกะสลักภาพนูนต่ำเรื่องพุทธประวัติ ชาวบ้านเชื่อกันว่าในองค์พระธาตุบรรจุอัฐิของพระเถระผู้ใหญ่ที่ชาวเมือง เคารพนับถือ สังเกตได้จากเมื่อเมืองเชียงโสมชนะสงคราม ได้ทำลายทุกสิ่งทุกอย่างในเมืองฟ้าแดด แต่ไม่ได้ทำลายพระธาตุยาคู จึงเป็นโบราณสถานที่ยังคงสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ชาวบ้านจะจัดให้มีงานประเพณีบุญบั้งไฟเป็นประจำทุกปีในเดือนพฤษภาคม เพื่อเป็นการขอฝนและความร่มเย็นให้กับหมู่บ้าน


เขื่อนลำปาว

อำเภอยางตลาด จ.กาฬสินธุ์
เขื่อน ลำปาว เป็นเขื่อนดินซึ่งสร้างปิดกั้นลำน้ำปาว และห้วยยาง มีบริเวณเขตติดต่อระหว่างตำบลลำปาว อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ ตำบลหนองบัว อำเภอหนองกุงศรี และตำบลเว่อ อำเภอยางตลาด ตามเส้นทางหมายเลข 209 ทางหลวงสายกาฬสินธุ์-มหาสารคาม ตรงหลักกิโลเมตรที่ 10 แยกขวามือเข้าเขื่อนลำปาวตามถนนลาดยาง 26 กิโลเมตร เป็นเขื่อนดินสูงจากท้องน้ำ 33 เมตร สันเขื่อนยาว 7.8 เมตร กว้าง 8 เมตร เริ่มก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2506 สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2511 เพื่อปิดกั้นลำน้ำปาวและห้วยยาง ที่บ้านหนองสองห้อง ตำบลลำปาว อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ ทำให้เกิดอ่างเก็บน้ำแฝดทางด้านเหนือเขื่อน จึงได้ขุดร่องเชื่อมระหว่างอ่างทั้งสอง เก็บน้ำได้ 1,430 ล้านลูกบาศก์เมตร สร้างขึ้นเพื่อบรรเทาอุทกภัยและเพื่อการเกษตรโดยเฉพาะ นอกจากนั้นยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลา มีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจได้แก่ หาดดอกเกด ซึ่งเปรียบเสมือนสวรรค์ชายหาดของคนอีสาน


น้ำตกผานางคอย

อำเภอเขาวง จ.กาฬสินธุ์
น้ำตก ผานางคอย เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ไหลมาจากเทือกเขาภูพาน แบ่งเป็นชั้นๆ มีความสวยงามมาก สภาพป่าโดยรอบเขียวขจีอุดมสมบูรณ์ และลักษณะเด่นคือ มีน้ำไหลตลอดปีแม้ในฤดูแล้ง
การเดินทาง จากสี่แยกอำเภอเขาวงทางหลวงหมายเลข 2291 เดินทางเข้าทาง รพช. มีป้ายตรงไปน้ำตกผานางคอยระยะทางประมาณ 13 กิโลเมตร (ทางบางช่วงจะเป็นลูกรัง)



น้ำตกตาดทอง

อำเภอเขาวง จ.กาฬสินธุ์
น้ำตก ตาดทอง อยู่ในเขตอำเภอเขาวง บนเส้นทาง เขาวงดงหลวง-มุกดาหาร เป็นน้ำตกที่มีความสวยงามด้วยโขดหินสลับซับซ้อน ในฤดูฝนจะเป็นช่วงที่สวยงามที่สุด น้ำตกตาดทองจะจัดให้มีงานขึ้นทุกๆ ปี ในช่วงเดือนตุลาคม รถยนต์สามารถเดินทางเข้าถึงน้ำตกได้โดยสะดวก
การเดินทาง เดินทางตามทางหลวงหมายเลข 2291 ถึงสามแยกกุดปลาเค้าเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 2287 กิโลเมตรที่ 76 น้ำตกจะอยู่ทางขวามือ



ผาเสวย

อำเภอท่าคันโท จ.กาฬสินธุ์
ผา เสวย อยู่บนเทือกเขาภูพาน เขตบ้านแก้งกะอาม ตำบลผาเสวย อำเภอสมเด็จ ห่างจากที่ว่าการอำเภอสมเด็จ 17 กิโลเมตร หรืออยู่ห่างจากจังหวัดกาฬสินธุ์ ประมาณ 58 กิโลเมตร เส้นทางสายสมเด็จ-สกลนคร เดิมชาวบ้านเรียกว่า “ผารังแร้ง” เมื่อ พ.ศ. 2497 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จผ่านและเสวยพระกระยาหารกลางวัน จึงเรียกที่ประทับนั้นว่า “ผาเสวย” ลักษณะตั้งอยู่บนเหวลึก หน้าผาสูงชัน ชาวบ้านเรียกว่า “เหวหำหด” บนหน้าผาเสวยสามารถชมทัศนียภาพ และเป็นที่พักผ่อนได้เป็นอย่างดี


กลุ่มทอผ้าไหมแพรวาบ้านโพน

อำเภอคำม่วง จ.กาฬสินธุ์
กลุ่ม ทอผ้าไหมแพรวาบ้านโพน อยู่ห่างจากจังหวัดกาฬสินธุ์ 70 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 227 ผ้าแพรวาเป็นผ้าไหมลายมัดหมี่ ที่มีลายเอกลักษณ์เฉพาะตัวของกลุ่มทอผ้าชาวผู้ไทยบ้านโพน แบ่งออกเป็น 2 ลาย ได้แก่ ลายหลัก และลายแถบ ส่วนสีของผ้าแพรวามิได้มีเพียงสีแดงเท่านั้น ปัจจุบันนี้มีการให้สีต่างๆ มากขึ้น ตามความต้องการของตลาด เช่น สีครีม สีชมพูอ่อน สีม่วง สีน้ำเงิน สีเขียว เป็นต้น ซึ่งนับได้ว่าการทอผ้าแพรวา เป็นงานศิลปหัตถกรรมประเภทสิ่งทอที่หาได้น้อยแห่งในประเทศไทย ต่อมาสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ทรงสนับสนุน จนเป็นที่แพร่หลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ


หมู่บ้านวัฒนธรรมผู้ไทยโคกโก่ง

อำเภอกุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์
หมู่ บ้านวัฒนธรรมไทยโคกโก่ง เป็นหมู่บ้านที่มีการอนุรักษ์วัฒนธรรมชาวผู้ไทย เปิดต้อนรับนักท่องเที่ยว ที่สนใจท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ได้พักแรม (home stay) สัมผัสวิถีชีวิตชาวบ้าน กิจกรรมที่จัดให้ได้แก่ พิธีบายศรีสู่ขวัญ พิธีเหยา (การรักษาผู้ป่วย) ประเพณีลงข่วง รับประทานอาหารพื้นบ้านแบบพาแลง ชมการแสดงศิลปพื้นบ้าน และเพลิดเพลินกับการเดินชมป่าเขาลำเนาไพร น้ำตกตาดสูง-ตาดยาว ศึกษาธรรมชาติพรรณไม้และพืชสมุนไพรท้องถิ่น ตามเส้นทางเดินป่าในวนอุทยานภูผาวัว เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าภูสีฐาน ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 0 4381 9500
การเดินทาง จากอำเภอกุฉินารายณ์ ไปตามทางหลวงหมายเลข 2042 ประมาณ 12 กิโลเมตร ถึงบ้านนาไคร้ เลี้ยวซ้ายเข้าไปประมาณ 3 กิโลเมตร


สถานีศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าลำปาว (สวนสะออน)

อำเภอยางตลาด จ.กาฬสินธุ์
สถานี ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าลำปาว (สวนสะออน) อยู่บริเวณทิศตะวันออกของอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำปาว มีเนื้อที่ 1,420 ไร่ เป็นสวนป่าธรรมชาติ หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กรมป่าไม้ กรมชลประทาน กรมทางหลวง ได้ร่วมกันดำเนินการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติสวนสัตว์เปิด ได้นำสัตว์ป่าชนิดต่างๆ มาปล่อยไว้ให้อยู่แบบธรรมชาติดั้งเดิม มี “วัวแดง” เป็นสัตว์ป่าที่เป็นเอกลักษณ์ของสถานีฯ สภาพของป่าเป็นป่าเต็งรัง หรือป่าแดงมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ซึ่งเปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 07.00-18.00 น. ไม่เสียค่าเข้าชม การใช้บ้านพักของสถานีฯ และตั้งแค้มป์พักแรมต้องขออนุญาตเจ้าหน้าที่สถานีฯ หรือทำจดหมายขออนุญาตล่วงหน้าส่งไปที่ สถานีศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าลำปาว ตู้ ป.ณ. 120 อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ 46000 หรือผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กรมป่าไม้ เขตบางเขน กรุงเทพฯ โทร.0 2562 0760 www.dnp.go.th
การเดินทางได้ สองเส้นทาง คือ ตามเส้นทางไปเขื่อนลำปาว เมื่อถึงตัวเขื่อนจะมีทางเลียบสันเขื่อนไปอีกประมาณ 4 กิโลเมตร หรือใช้เส้นทางกาฬสินธุ์-สหัสขันธ์ (ทางหลวง 227) ประมาณ 19 กิโลเมตร และมีทางแยกซ้ายไปสวนสะออนอีกประมาณ 5 กิโลเมตร